วันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ดิวิชั่น 3


ปกติเลยไทม์พลัสนิวส์มักไม่เขียนถึงประเด็นกีฬาระดับประเทศ  เพราะเป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น แต่ฉบับนี้ต้องขอพูดถึงบ้างเล็กน้อย เกี่ยวกับฟุตบอลลีกภูมิภาค ดิวิชั่น 2 ที่เพิ่งจบฤดูกาล 2015 ไป แต่ในระดับแชมป์เปี้ยนลีกกำลังเริ่มต้น เพื่อคัดเอา 4 ทีมขึ้นไปเล่นดิวิชั่น 1


ขณะนี้ หลายๆ ทีมที่พลาดหวังไม่ได้เป็นตัวแทนไปแข่งในรอบแชมป์เปี้ยนลีก ก็มีเริ่มขยับเตรียมตัวกันบ้างแล้ว (ในที่นี้จะพูดถึงภาคอีสานเท่านั้น)  และยังมีข่าวคราวจากทีมที่ไม่ได้ร่วมแข่งขันในปีที่ผ่านมา ว่าในฤดูกาลหน้าส่งทีมเข้าร่วมแข่งขันด้วย เช่น บึงกาฬ  สว่างแดนดิน เอฟซี ทีมน้องใหม่ล่าสุด  และยโสธรยูไนเต็ด สมาชิกเก่าแต่หน้าใหม่

หากเป็นดังนี้  ภาคอีสานที่มีทีมแข่งขันมากที่สุดอยู่แล้ว 18 ทีม ก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 20 ทีม ซึ่งที่ผ่านมาก็มีปัญหาการจัดโปรแกรมการแข่งขัน มีนัดกลางสัปดาห์เกิดขึ้นหลายครั้ง และที่สำคัญ งบประมาณการทำทีมเพิ่มขึ้น จากค่าเดินทาง ค่าอยู่ ค่ากิน ค่าที่พัก ส่วนสโมสรใหญ่ เงินถุงเงินถังก็ไม่เดือดร้อนมากนัก

เมื่อวานนี้ มีข่าวจากนายวิมล  กาญจนะ ประธานจัดการแข่งขันฟุตบอล ดิวิชั่น 2 ลีกภูมิภาค  เปิดเผยหลังการประชุมว่า  ได้วางหลักเกณฑ์ใหม่ สำหรับสโมสรที่จะส่งทีมฟุตบอลเข้าร่วมการแข่งขัน  จะต้องมีงบประมาณให้ฝ่ายจัดประมาณ 8 ล้าน ซึ่งเงินจำนวนนี้เราจะนำมาพัฒนาลีกภูมิภาคให้กับทุกทีมโดยเป็นเงินค่าสมัครจะหารให้ทุกทีมที่ร่วมการเเข่งขัน  จะต้องมีสนามเหย้าเป็นของตัวเอง  จะต้องไม่รับเงินสนับสนุนจากฝ่ายจัดการแข่งขันเป็นเวลา 3 ปี   จะต้องส่งแผนงานให้ฝ่ายจัดการเเข่งขันก่อนล่วงหน้า และเมื่อส่งแผนงานแล้วก็อยู่ที่ฝ่ายจัดจะพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ส่งเเข่งหรือไม่

ถือเป็นวิธีแก้ปัญหาที่สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของคนในสมาคมฟุตบอลฯได้เป็นอย่างดี  มักใช้เงินเป็นที่่ตั้ง

จากการแข่งขันลีกภูมิภาคเริ่มต้นมานับตั้งแต่ปี 2009  แฟนบอลได้สัมผัสรู้แล้วว่า ระบบระเบียบที่สมาคมฟุตบอลฯได้วางไว้สวยหรูนั้น ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ ที่จะยึดถือปฏิบัติตามแต่อย่างใด  เช่น 1 จังหวัด 1 ทีม 1 ลีก หายไป แล้วมีคำว่า “นำร่อง” เข้ามาสร้างความชอบธรรมให้แทน

นายวิมล  กาญจนะ

พวกเขาพร้อมเสมอที่จะแก้ไขกฎเกณฑ์เอื้อให้ทีมต่างๆ  ขึ้นอยู่กับการเจรจาในล็อบบี้โรงแรม  จึงเป็นความเน่าเฟะของวงการฟุตบอลลีกภูมิภาค ที่พร้อมจะกัดกินทำลายตนเอง หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป อีกไม่เกิน 5 ปี นักฟุตบอลกับลูกเมีย จะมีมากกว่าแฟนบอลเข้าไปในสนามเป็นแน่

อย่างไรก็ตาม  แนวทางการรับสมัครทีมเข้าร่วมลีกภูมิภาคที่นายวิมลระบุนั้น มีบางข้อที่ “เข้าท่า”  เช่น ต้องมีสนามเป็นของตัวเอง ต้องมีแผนงาน แต่เมื่อกระแสฟุตบอลภูธรได้รับความนิยมอย่างมากในขณะนี้  มีหลายทีมที่มีความพร้อม คุณสมบัติครบถ้วนต้องการเข้าร่วม จึงมีคำถามจากคนในวงการว่า  เราสมควรที่จะมีระดับดิวิชั่น 3 แล้วหรือยัง

หรือหากยังไม่พร้อม ควรใช้รูปแบบการแข่งขันแบบทัวร์นาเมนท์ เพื่อคัดเอาทีมขึ้นไปเล่นในระดับดิวิชั่น 2 ของแต่ละภูมิภาค

อันดับแรกควรยุบเลิกฟุตบอลถ้วย ง. ,ค., และ ข. ไม่ต้องกลัวเสียคะแนนเสียงเน่าๆ  แล้วแยกออกไปแข่งขันภูมิภาคของใครของมัน  จัดแข่งขันแบบทัวร์นาเมนท์เช่นเดียวกับบอลถ้วย ง. ค. และ ข.เดิม อาจจะมี 8 ทีม 12 ทีม  16 ทีม หรือ 32 ทีม ก็แล้วแต่  ทีมไหนมีความพร้อม ก็ขอรับเป็นเจ้าภาพได้ทันที  ใช้เวลาแข่งขันไม่เกิน 2-4 สัปดาห์


ตัวอย่าง เช่น ภาคอีสาน  มีสโมสรฟุตบอลเทศบาลเมืองวังสะพุง จ.เลย  ที่มีความพร้อมขอเป็นเจ้าภาพจัด  ทีมต่างๆทั่วภาคอีสาน ก็สมัครเข้าร่วมการแข่งขัน เช่น บึงกาฬ   ยโสธรยูไนเต็ด  สว่างแดนดิน เอฟซี  หรือชุมแพเอฟซี  แล้วแข่งขันคัดเอา 4 ทีม ขึ้นไปเล่นลีกภูมิภาคของอีสาน ร่วมกับ 14  ทีมที่มีอยู่แล้ว รวมเป็น 18 ทีม  ส่วน 4 อันดับสุดท้ายของลีกภูมิภาคอีสาน ก็ตกชั้นลงมาแข่งแบบทัวร์นาเม้นท์ไต่ขึ้นไปใหม่ในปีหน้า  เช่น ในปีนี้ มุกดาหาร ซิตี้ , หนองคาย เอฟที  , สกลนคร เมืองไทย เอฟซี และมหาสารคามซิตี้ ก็ต้องตกชั้นลงไป  ส่วนภูมิภาคอื่นๆก็จัดการแข่งขันรูปแบบเดียวกัน

หากทำได้ดังนี้ การแข่งขันน่าจะสนุกตื่นเต้นเร้าใจมากขึ้น  ปัจจุบันทีมอันดับท้ายๆเตะบอลแบบซังกะตาย ขอไปที  แพ้ยังไงก็ไม่ตกชั้น  ไม่มีแรงกระตุ้น จูงใจ

ฝากนายวิมลและสมาคมฟุตบอลฯ ลองพิจารณาดูถึงแนวทางนี้ว่าน่าจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน  อย่ามัวแต่คิดถึงแต่เรื่องเงินเป็นหลัก  อยู่กับลูกพี่มานาน เกิดเหลิงอำนาจ มัวเมา ผลประโยชน์บังตา สมองไม่โปร่งโล่งใส…. 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น