วันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2556

ชาวบ้านครึ่งพัน ฮือต้านเวทีรับฟังความเห็น “ทุ่งคำ”ขุดทองอีก 10,000 ไร่ ไร้เหตุรุนแรง


เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2556  ที่วัดโพนทอง  บ้านหัวนา ต.นาโป่ง  อ.เมือง จ.เลย  กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด จาก 6 หมู่บ้านในตำบลเขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย จำนวนประมาณ 500 คน  เคลื่อนขบวนมาชุมนุมคัดค้านการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นและกำหนดขอบเขตแนวทางการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ” หรือ Pubic Scoping (.1) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำ “รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)” เพื่อประกอบคำขอประทานบัตรเพิ่มเติม(คำขอประทานบัตรที่ 76/2539) ในพื้นที่ ต.นาโป่ง อ.เมือง จ.เลย เพื่อทำโครงการเหมืองแร่ทองคำ ทองแดง และเงิน จัดโดยบริษัททุ่งคำจำกัด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  กลุ่มผู้ชุมนุมได้นำรถเครื่องขยายเสียง มาเปิดอภิปรายโจมตีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ ว่าจัดขึ้นอย่างไม่โปร่งใส ถูกต้องตามกฎหมาย  ไม่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย  เปิดให้เข้าร่วมได้เฉพาะประชาชนที่ผู้ประกอบการได้จัดตั้งไว้แล้ว  โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการตำรวจภูธร จ.เลย  และเจ้าหน้าที่ อส.รวมกว่า 600 นาย  มายืนเป็นแนวกั้น ไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปภายในบริเวณศาลาวัด  สถานที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น  ท่ามกลางสายฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก  ซึ่งผู้ชุมนุมที่มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย ขอนแก่น และมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้พยายามฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ เพื่อเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นภายในวัด  แต่ไม่สำเร็จ  ทำให้ผู้ชุมนุมได้กล่าวปราศรัยโจมตีการทำหน้าที่ของตำรวจ และข้าราชการในจังหวัดว่า รับใช้นายทุนเพียงอย่างเดียว ไม่เหลียวแลความเดือดร้อนของชาวบ้าน




นอกจากนี้แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมยังได้กล่าว เรียกร้องให้ประชาชนในตำบลนาโป่ง ออกมาคัดค้านการเปิดเหมืองแร่ โดยได้ชี้ให้เห็นถึงพิษภัย  ผบกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่ชาวบ้านในตำบลเขาหลวง อ.วังสะพุงไ ด้รับ  ซึ่งที่บ้านนาหนองบง ต.เขาหลวง มีโรงงานแต่งงานอยู่ในหมู่บ้าน ที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2549 บริษัทได้เปิดดำเนินการมา ทำให้แหล่งน้ำ และแหล่งอาหารทั้งน้ำและดิน มีสารโลหะหนักปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐาน  จนทำให้สำนักงานสาธารณสุข จ.เลย ได้ออกประกาศห้ามนำน้ำมาอุปโภคบริโภค และห้ามรับประทานสัตว์น้ำในลำห้วย โดยเฉพาะสารไซยาไนด์  ปนเปื้อนในเลือดของชาวบ้านจำนวนประมาณ 50 คน  หากชาวตำบลนาโป่งเห็นชอบให้มีการเปิดเหมืองทองแปลงใหม่ 10,000 ไร่ ก็จะประสบชะตากรรมเดียวกับคนในตำบลเขาหลวง หากสามารถเปิดพื้นที่เหมืองทองแห่งใหม่นี้ได้  วัตถุดิบทั้งหมดจะถูกลำเลียงโดยรถบรรทุกไปแยกย่อยที่โรงแต่งแร่ที่ บ้านนาหนองบง ต.เขาหลวง  ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็จะรุนแรงขึ้นไปอีก  แกนนำกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดกล่าว



ทั้งนี้  แกนนำของกลุ่มผู้ชุมนุมได้กล่าวว่า  จะดำเนินการฟ้องร้องว่าการจัดเวทีครั้งนี้ไม่ดำเนินการตามกฎหมาย  และจะนำเรื่องไปร้องต่อตลาดหลักทรัพย์ให้ดำเนินการถอดบริษัททุ่งคาฮาเบอร์จำกัด  (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัททุ่งคำจำกัด  ออกจากการซื้อขาย  เพราะไม่ได้ดำเนินการตามหลักธรรรมาภิบาล ปกปิดข้อมูลต่อประชาชน  ขณะที่ปัญหาเดิม ทางบริษัทยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้  แต่กลับจะมาเปิดเหมืองแปลงใหม่ที่ตำบลนาโป่ง

อย่างไรก็ตาม  การชุมนุมครั้งนี้  ดำเนินไปอย่างสงบ  ก่อนที่กลุ่มชาวบ้านจะเดินทางกลับ ในขณะที่เวทีรับฟังความคิดเห็นในวัดยุติลงเมื่อเวลา 12.00 น. 






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น