วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

กรรมการ ป.ป.ช. ตรวจความคืบหน้าการสรรหา ป.ป.จ.เลย ชี้ช่องประชาชนร้องคัดค้านผู้สมัครได้

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2556 ที่ห้องประชุมภูสวนทราย ศาลากลาง จ.เลย  นายใจเด็ด  พรไชยา  กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  (ป.ป.ช.) พร้อมด้วยนายสรรเสริญ  พลเจียก  รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.  และคณะ เข้าพบนายสมพงศ์  อรุณโรจน์ปัญญา  ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย  ในโอกาสที่เดินทางมาตรวจความพร้อมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัดเลย (กรรมการ ป.ป.จ.)  ภายหลังการหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ในฐานะประธานที่ปรึกษาคณะทำงานการสรรหา ป.ป.จ. ได้เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน

นายใจเด็ดกล่าวว่า  การเดินทางมาครั้งนี้เพื่อขอคุณสื่อมวลชน และขอความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์การสรรหา ป.ป.จ. ให้ประชาชนได้รับทราบโดยกว้างขวาง เพื่อให้การสรรหา เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์  ได้บุคคลที่มีคุณภาพและเป็นคนดี สื่อสัตย์ สุจริตเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.จ.  ในส่วนของจังหวัดเลยสามารถมีกรรมการ ป.ป.จ.ได้ 3 คน  กระบวนการสรรหาในขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างติดต่อทาบทามองค์กรต่างๆ 9 องค์กร ประกอบด้วย  สมาคมหรือชมรมครู อาจารย์ หรือสมาคมทางด้านการศึกษา , สภาทนายความหรือผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย , สมาคมหรือชมรมพนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือสภาแรงงาน หรือสหภาพแรงงาน , สภาหอการค้าจังหวัดหรือสภาอุตสาหกรรมจังหวัดหรือชมรมธนาคารพาณิชย์จังหวัด , กลุ่มอาสาสมัคร , องค์กรเอกชน , องค์กรเกษตรกร , สมาคมหรือชมรมสื่อมวลชน และหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด  โดยในวันที่ 1-9 สิงหาคม 2556 นี้จะมีการเปิดให้ขึ้นทะเบียนของหน่วยงานหรือองค์กรที่ประสงค์จะส่งผู้แทนเข้าร่วมเป็นกรรมการสรรหา  และในวันที่ 29 สิงหาคม 2556 จะมีการจัดประชุมผู้แทนหน่วยงานหรือองค์กรคัดเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน เพื่อเป็นกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.จ. โดยวิธีลับ  ซึ่งได้แต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเลยเป็นประธานที่ปรึกษาคณะทำงาน

กรรมการ ป.ป.ช.กล่าวอีกว่า  สำหรับการรับสมัครผู้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการ ป.ป.จ. จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 26 สิงหาคม วันที่ 4 กันยายน 2556  โดยกรรมการสรรหาจะคัดเลือกผู้สมัครที่มีคุณสมบัติครบถ้วนที่ตามกฎหมายกำหนดจำนวน 6 คน แล้วส่งรายชื่อให้กรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาคัดเลือกให้เหลือ 3 คน  ซึ่งกระบวนการ วิธีการตรวจสอบคุณสมบัติได้ดำเนินการเข้มข้น ไม่มีประวัติด่างพร้อย หรือมีพฤติกรรมที่ขัดกับตำแหน่งหน้าที่อย่างแน่นอน  กรรมการ ป.ป.จ.ที่เข้ามารับหน้าที่นี้จะต้องทำงานเต็มเวลา ไม่เป็นข้าราชการ หรือผู้ที่ทำธุรกิจอื่นๆ ดำรงตำแหน่งได้วาระเดียว เป็นเวลา 4 ปี  ประชาชนที่ต้องการมีส่วนร่วม สามารถส่งคำร้องคัดค้านผู้ผ่านการคัดเลือกได้ หากพบว่าบุคคลนั้นๆ มีประวัติเกี่ยวข้องกับการทุจริต หรือมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะนำไปพิจารณาด้วย  นายใจเด็ดกล่าว

ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ในการเป็นคณะกรรมการ ป.ป.จ. ประกอบด้วย ค่าตอบแทนรายเดือน ในตำแหน่งประธานกรรมการ ป.ป.จ. เดือนละ 57,650 บาท ตำแหน่งกรรมการ ป.ป.จ. เดือนละ 47,240 บาท ,  บำเหน็จตอบแทน , การประกันสุขภาพ , ประโยชน์ตอบแทนอื่นตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด  และมีสิทธิได้รับการเสนอชื่อเพื่อขอรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์.